“การเก็บขยะ” ด่านแรกสู่ชุมชนปลอดขยะ

by Seema on 12/05/2021 No comments

เขียนโดย ซีมา พราบู, ผู้อำนวยการโครงการของแทรชฮีโร่เวิลด์

การเคลื่อนไหวของแทรชฮีโร่ แสดงให้เห็นว่า การเก็บขยะในพื้นที่สาธารณะ สามารถขยายการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

อาสาสมัครแทรชฮีโร่ได้ทำการเก็บขยะทุกสัปดาห์มาเป็นเวลามากกว่า 7 ปีแล้ว มีกิจกรรมถึง 12,000 ครั้ง ในกว่า 170 พื้นที่ทั่วโลก และเก็บขยะได้กว่า 1,870,000 กก. จากชายหาด, ริมแม่น้ำ และพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ

นี่เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ ซึ่งเป็นผลจากการทุ่มเททำงานอย่างหนัก แต่มันก็เป็นเพียงหยุดน้ำในมหาสมุทร หากเทียบกับจำนวนพลาสติกที่ผู้คนทั่วโลกทิ้งในแต่ละวัน ไม่ว่าจะใช้พละกำลังคนอีกกี่ล้านเท่า เราก็ไม่มีวันแก้ปัญหามลพิษพลาสติกนี้ได้ ด้วยแค่เพียงการเก็บขยะ เราต้องป้องกัน หยุดปัญหาที่ต้นเหตุด้วย แล้วทำไมเราจึงเลือกหนทางนี้ล่ะ?

ฮีโร่ มูบา, อินโดนีเซีย

คำตอบก็คือ เพื่อจะหยุดปัญหาที่ต้นตอ คุณต้องเห็นก่อนว่าปัญหามันร้ายแรงขนาดไหน ในประสบการณ์ของเรา การเก็บขยะเป็นเรื่องง่าย ทำให้ผู้คนได้เข้าถึงและเข้าใจปัญหาแรกเมื่อเราพึ่งพาพลาสติกมากเกินไป ทำให้ผู้คนรวมตัว รวมพลัง และแรงผลักดันสำคัญอื่น ๆ เพื่อที่จะ “ทำอะไรสักอย่าง”

แรงผลักดันนี้เมื่อส่งสารด้านบวก ก็จะเกิดประโยชน์ในการเปลี่ยนพฤติกรรม หรือหากมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมากได้ ก็สามารถนำไปใช้ในการกระตุ้นนโยบายได้อีกด้วย เช่นในโครงการแบรนด์ออดิทขององค์กร Break Free From Plastic

แทรชฮีโร่เลมบาตา, อินโดนีเซีย ทำแบรนด์ออดิทในเดือนกันยายน 2563

>กุญแจสำคัญก็คือให้กลุ่มอาสาสมัครในชุมชนที่มีอิสระ จัดการเก็บขยะเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือการเมืองใด กลุ่มสาขาของเราสามารถรับการสนับสนุนของใช้ในการเก็บขยะ และมีคนใหม่ ๆ เข้ามาเป็นอาสาสมัครอยู่เรื่อย ๆ จนกลายเป็นกิจกรรมประจำสัปดาห์ของชุมชน และเกิดการพูดคุยกันในท้องถิ่นเกี่ยวกับการจัดการขยะและการใช้ซ้ำ

การจัดกิจกรรมแบบนี้ ทำให้การเก็บขยะช่วยเปิดประตูสู่การปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนในชุมชน เมื่อกลุ่มสาขาแทรชฮีโร่เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือในชุมชน อาสาสมัครของเราก็มักได้รับเชิญให้ไปพูดคุยกับผู้นำชุมชน หรือด้วยแรงขับในชุมชนก็อาจทำให้มีพลังในการริเริ่มโครงการที่ใหญ่กว่าขึ้นได้

คำอธิบายภาพ [l-r] : แทรชฮีโร่แอนเด, อินโดนีเซีย ช่วยโรงเรียนในท้องถิ่นติดตั้งโครงการเติมน้ำดื่ม ; แทรชฮีโร่หลังสวน, ประเทศไทย ทำงานร่วมกับวัดในโครงการปลอดขยะ โดยเริ่มต้นจากการหมักปุ๋ย ; แทรชฮีโร่เกาะช้าง, ประเทศไทย ได้รับเชิญไปให้ความรู้ในโครงการคัดแยกขยะในครัวเรือน

จากภาพที่เกิดขึ้นในใจนี้ ทำให้เราได้เริ่มจัดการอบรม “แทรชฮีโร่ชุมชนปลอดขยะ” ขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงปลายปี 2563 เพราะอาสาสมัครของเราส่วนมาก เป็นแค่คนทั่วไปที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ผู้มีความเชี่ยวชาญ แต่เราต้องการให้พวกเขามีอาวุธเป็นความรู้และทักษะที่มากพอในการนำทางให้ชุมชนพ้นจากหนทางเท็จ ไปสู่ระบบปลอดขยะอย่างแท้จริง

จากแนวคิดที่พัฒนาโดยมูลนิธิ Let’s Do It และดำเนินงานโดยผู้ให้ความรู้หลายท่าน การอบรมครั้งแรกมีผู้เชี่ยวชาญจากองค์กร Break Free From Plastic, Zero Waste Europe, GAIA เอเชีย-แปซีฟิก และ YPBB ร่วมด้วยนักวิชาการชั้นนำในท้องถิ่น

เราเชื่อมต่อพวกเขากับกลุ่มอาสาสมัครในไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และด้วยสถานการณ์ไวรัสโควิด ทำให้การอบรมต้องจัดขึ้นแบบออนไลน์ เป็นเวลา 2 วัน ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน และให้ความรู้กับผู้เข้าอบรมในเรื่อง

  • หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน
  • การตรวจสอบขยะในชุมชน
  • สร้างทักษะในการโต้แย้งอย่างน่าเชื่อถือในเรื่องระบบปลอดขยะ (ภาพรวมของหนทางเท็จและการฟอกเขียว)
  • ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงของโครงการปลอดขยะในเอเชีย

และยังมีการทำงานกลุ่มและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วย

ความคิดเรื่องระบบปลอดขยะยังเป็นเรื่องใหม่ในประเทศเหล่านี้ ดังนั้นการอบรมทั้งหมดจึงใช้ภาษาท้องถิ่น โดยผ่านการแปล นี่ทำให้หัวข้อที่ซับซ้อนเข้าใจได้ง่ายขึ้น และประยุกต์ใช้กับบริบทของวัฒนธรรมท้องถิ่นได้

โดยสรุป มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 81 คน ในจำนวนนี้ 70 คนเข้าร่วมครบทั้งสองวัน และ 51 คนได้เข้ารับการติดตามผล และได้ประกาศนียบัตรในฐานะผู้ฝึกฝนระบบปลอดขยะ (ระดับพื้นฐาน)

มาเรีย เธเรเซีย วิลบรอดา เป็นอาสาสมัครแทรชฮีโร่ที่ทำงานอยู่ในชุมชนเลโวเลบา บนเกาะเลสเซอร์ ซันดา ประเทศอินโดนีเซีย เธอมักจะเข้าไปพูดคุยเรื่องการลดและคัดแยกขยะในกลุ่มเพื่อนบ้านและโรงเรียนต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ “จากการอบรมนี้ทำให้ฉันมีแรงใจและรู้สึกรับผิดชอบมากขึ้นทุกครั้งที่ออกไปเก็บขยะ แล้วยังได้ทำให้เข้าใจความหมายของซีโร่เวสต์มากขึ้นด้วย ซึ่งสำคัญมาก เพราะมันมีอิทธิพลต่อชีวิตในแต่ละวันของฉัน”

ศุภวัฒน์ ชื่นจันทร์ (พี่ตุ้ม) ผู้นำกลุ่มแทรชฮีโร่ชุมพร กลุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างมากกับโครงการให้ความรู้แก่เด็ก ๆ และช่วยให้หลายโรงเรียนเป็นโรงเรียนปลอดขยะ เขายังจัดโครงการ “พี่ส่งต่อน้อง” รับบริจาคเสื้อผ้าและของเล่นมือสองมอบต่อให้กับเด็ก ๆ ที่ขาดแคลน พี่ตุ้มพูดถึงการอบรมไว้ว่า “เป็นกิจกรรมที่ดีมาก มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ การแลกเปลี่ยนความรู้ ดีที่ได้เรียนรู้ความสำเร็จของพื้นที่อื่น ๆ และดูว่าจะเอามาปรับใช้กับพื้นที่ของเราอย่างไร”

พวกเราทุกคนต่างก็รู้สึกตื่นเต้นกับการก้าวเดินไปสู่อีกขั้นของการอบรมที่จะจัดขึ้นในปีนี้ วางแผนโครงการริเริ่มที่เป็นรูปธรรมและชักชวนผู้คนให้เข้าร่วมมากขึ้น

ปัญหาของมลพิษพลาสติกเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและมีหลายแง่มุม และไม่สามารถแก้ไขได้เพียงแค่ลงมือทำสิ่งใดอย่างเดียว ด้วยประสิทธิภาพในการเก็บข้อมูลของ BFFP โครงการเล็ก ๆ นี้แสดงให้เห็นว่า เราสามารถต่อจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน เพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และยาวนานกว่าได้อย่างไร

ดูเนื้อหาการอบรมโดย ดร.เอ็นโซ ฟาโวอิโน (Zero Waste Europe) และมิโก อลิโน (GAIA Asia-Pacific) ร่วมด้วย ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ และ ดร.ณัฐพงษ์ นิธิอุทัย

สนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งของแทรชฮีโร่ไหม?

➡️ เข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะ

➡️ สร้างกลุ่มสาขาใหม่ของแทรชฮีโร่

– ซีมา พราบู ผู้อำนวยการโครงการของแทรชฮีโร่เวิลด์ เธอเริ่มต้นวิถีปลอดขยะด้วยการจัดโครงการทำความสะอาดชายหาดในประเทศไทย
แทรชฮีโร่เป็นการเคลื่อนไหวด้วยอาสาสมัครจากทั่วโลก ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชน สร้างแรงบันดาลใจ และสนับสนุนพวกเขาให้ช่วยกันทำความสะอาดและหลีกเลี่ยงขยะพลาสติก
แทรชฮีโร่เป็นสมาชิกหลักของ Break Free From Plastic ตั้งแต่ปี 2559

 

Seema“การเก็บขยะ” ด่านแรกสู่ชุมชนปลอดขยะ

Join the conversation